Blog

ไทยยูเนี่ยน องค์กรนวัตกรรมที่ให้ความสำคัญในการสร้างความร่วมมือ ทั้งในระดับ Global และ Local

การบริหารจัดการองค์กรให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการที่จะได้รับการยอมรับ ในฐานะ “องค์กรนวัตกรรม” นับเป็นโจทย์ที่ยากยิ่ง ซึ่งแต่ละบริษัทต่างก็มีแนวคิด วิธีการในการดำเนินงานที่แตกต่างกันไป การจัดกิจกรรมเครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย ครั้งที่ 1 ที่ผ่านมาจึงเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ระหว่างองค์กรที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยได้รับเกียรติจาก ดร. ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ Global Innovation Director บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2564 ด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น ประเภทองค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่ ได้มาร่วมถ่ายทอดว่ากว่าที่จะได้เป็นองค์กรนวัตกรรมนั้น มีหลากหลายแง่มุมที่ผู้บริหารจะต้องให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร

จากวิสัยทัศน์เพื่อสร้างความเชื่อมั่น สู่การสร้างความยั่งยืนในธุรกิจ

ไทยยูเนี่ยน เริ่มต้นจากการกำหนดวิสัยทัศน์ให้เป็น The World’s Most Trusted Seafood Leader ที่จะเป็นผู้ผลิตอาหารที่สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค พร้อมๆ กับการสร้างความยั่งยืนของธุรกิจ นำไปสู่การวางเป้าหมายให้เป็น Healthy Living, Healthy Oceans ที่ให้ความใส่ใจต่อคุณภาพชีวิตด้วยการมีโภชนาการที่ดีไปสู่ผู้บริโภค ไปจนถึงการดูแลท้องทะเลซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบที่จะทำให้ท้องทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ต่อไป จึงได้กำหนดกลยุทธ์ขององค์กรที่เรียกว่า 6 Strategic Pillars ได้แก่ 1). Global Innovation การใช้นวัตกรรมระดับโลก 2). Sustainability ให้ความสำคัญในด้านความยั่งยืน 3). Mergers & Acquisitions สร้างความเข้มแข็งด้วยการลงทุนและขยายธุรกิจ 4). Operational Excellence สร้าง network ในการผลิตที่เข้มแข็งจากโรงงานทั่วโลก 5). Strategic Sourcing การจัดหาในเชิงกลยุทธ์ที่มีความเข้มแข็ง และมีความรับผิดชอบ 6). Global Talent Development การพัฒนาบุคลากร

ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมทั้งระดับ Global และ Local

ธุรกิจของไทยยูเนี่ยนประกอบด้วย 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง กลุ่มอาหารแช่เย็นและแช่แข็ง และกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงและสินค้าเพิ่มมูลค่า นวัตกรรมขององค์กรประกอบด้วย 2 ส่วนคือ Global Innovation และ Regional Innovation โดยมองว่าการสร้างนวัตกรรมไม่ใช่ว่าทุกอย่างต้องมาจากส่วนกลาง แต่สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกภูมิภาค และถึงแม้จะมีการสร้างนวัตกรรมในส่วนกลางก็จะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อไปกับผู้บริโภคที่เป็น Local ด้วย ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีการประยุกต์เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ทำให้ไทยยูเนี่ยนมีแบรนด์ชั้นนำหลายๆ แบรนด์ในหลายๆ ประเทศที่ปรับใช้ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศที่ต้องการไม่เหมือนกันได้ โดยใช้เทคโนโลยีเดียวกัน

จาก Global Innovation Incubator ขยายสู่ Global Innovation Center

องค์กรนวัตกรรมของไทยยูเนี่ยนเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อปี 2015 โดยเริ่มจากการสร้าง Global Innovation Incubator (GII) ซึ่งเป็นศูนย์นวัตกรรมตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยมหิดลและมีการทำงานร่วมกับหลายมหาวิทยาลัย ต่อมาก็ได้ขยายเครือข่ายความร่วมมือออกไปหลายๆ อุตสาหกรรม ในหลายๆ มหาวิทยาลัยทั่วโลก และได้ขยายศูนย์มาเป็น GIC หรือ Global Innovation Center อยู่ที่อาคารสำนักงานในกรุงเทพมหานครในปี 2019 ขณะเดียวกันก็ได้เปลี่ยนที่ตั้งเดิมของศูนย์ GII ให้เป็นที่ทำการของโครงการ SPACE-F โดยร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยโครงการ SPACE-F ทำหน้าที่เป็นศูนย์บ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจให้กับสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร นอกจากนั้นก็มีการตั้งกองทุน Venture Capital ของบริษัทเพื่อลงทุนในด้านสตาร์ทอัพเทคโนโลยีอาหารที่น่าสนใจทั่วโลกอีกด้วย

จุดเปลี่ยนจากสร้างนวัตกรรมเอง ไปสู่การสร้างความร่วมมือ

Innovation ของไทยยูเนี่ยนจึงไม่ได้มีแค่ในองค์กร แต่ได้มีการทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา การมองหา Synergy กับภาครัฐในหลายๆ หน่วยงาน ทำงานร่วมกับภาคเอกชนหลายๆ บริษัทด้วย เพราะไทยยูเนี่ยนมองว่าการที่เป็นองค์กรนวัตกรรม ไม่ใช่ว่าจะต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง การทำนวัตกรรมด้วยตัวเองคงไม่ง่าย ถึงแม้ในศูนย์นวัตกรรมจะมีคนเป็นร้อย แต่การทำงานร่วมกับคนอื่นทำให้สามารถดึงคนเก่งๆ ที่อยู่ในหน่วยงานอื่นๆ มาช่วยกันได้ จึงทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมแบบร่วมไม้ร่วมมือที่เรียกว่า Open Innovation และ Collaboration โดยมีงานวิจัยที่ร่วมกับทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทย และหลายๆ หน่วยงานในหลายประเทศ เช่น Nofima ที่เก่งระดับโลกด้านปลาของนอรเวย์ Corbien ในอเมริกา ในไทยเองก็ร่วมมือกับ SCG และ PTT ที่จะมาสนับสนุนทั้งด้าน Packaging, Product, Processing และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

SPACE-F ความภาคภูมิใจที่ได้สร้างความเข้มแข็งใน FoodTech

SPACE-F นับเป็นโครงการ ที่สนับสนุนสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารทั่วโลก ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย โดยไทยยูเนี่ยนได้ร่วมกับ NIA และมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับวงการ FoodTech และ Startup ซึ่งเป็น Foundation ของอุตสาหกรรม ซึ่งในประเทศไทยยังสามารถพัฒนาไปได้อีกไกล ในโครงการยังแบ่งสตาร์ทอัพออกเป็น Incubator และ Accelerator ซึ่งเป็นการทำงานโดยไม่หวังผลประโยชน์ แต่ต้องการจะช่วยให้ Startup ได้เรียนรู้ ช่วยสร้างเครือข่าย ให้คำแนะนำเพื่อให้เติบโตมาเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จได้ และในที่สุดก็ช่วยเขาหาเงินลงทุน ซึ่งไทยยูเนี่ยนก็ไม่ได้หยุดแค่การสร้าง SPACE-F แต่เรายังลงทุนในบริษัท Startup เหล่านี้ซึ่งจะมาช่วยสร้างเสริมให้บริษัทเราเข้มแข็งต่อไป

สุดท้าย ดร.ธัญญวัฒน์ ยังได้ทิ้งท้ายไว้อีกว่าการที่เป็นองค์กรนวัตกรรมได้นั้น จะต้องมีการขับเคลื่อนทั้งภายในและภายนอกองค์กร ต้องสร้างวัฒนธรรม Innovative ซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติ ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง คิดต่างได้ การคิดต่างจะช่วยในการสร้างนวัตกรรมให้บริษัท โดยเฉพาะการสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดการระดมสมองจากพนักงานในหลายๆ กลุ่มเข้ามาร่วมกันทำงาน ไม่จำเป็นต้องเป็นพนักงานใน Global Innovation Center ซึ่งไทยยูเนี่ยนเองก็ยังมีโปรแกรม Pre-incubator ซึ่งเป็นการสร้าง Startup ภายในบริษัท และก็มีการลงทุนใน Startup ของตนเองโดยไอเดียของพนักงาน สร้างวัฒนธรรมให้เกิดการ Cross-Team ในลักษณะ S-curve เป็นการทำงานกับหลายๆ หน่วยงาน ก็จะทำให้มีการแข่งขันในบริษัท ซึ่งทุกคนก็อยากเข้าร่วมเพราะสนุกไปด้วยและมีการให้รางวัลที่ทำให้เขาภาคภูมิใจเป็นตัวขับเคลื่อนนั่นเอง