Blog

อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในเครือข่ายนวัตกรรมที่ร่วมขับเคลื่อนนวัตกรรมในภูมิภาค

สถาบันการศึกษา นับเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่มีบทบาทขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศ ทั้งในด้านหลักสูตรการศึกษาเพื่อสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ และยังเป็นแหล่งบริการทางวิชาการและงานวิจัยให้กับภาคธุรกิจ สังคมและชุมชนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมไปพร้อม ๆ กันทั่วประเทศ วันนี้ Innovation Thailand ได้มีโอกาสพาไปรู้จัก“อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” หนึ่งในเครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย ผ่านการพูดคุยกับ ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมในภาคเหนืออย่างไรบ้าง ไปติดตามกัน...

ภาพรวมนวัตกรรมของประเทศไทยในขณะนี้เป็นอย่างไร

นวัตกรรมไทยมีทิศทางที่ดีในการเติบโต โดยจะเห็นจากผลการจัดอันดับที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการพัฒนาประเทศไทย แต่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในส่วนกลางและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เท่านั้น จึงควรสนับสนุนให้การพัฒนาด้านนวัตกรรมกระจายตัวไปยังภูมิภาคมากขึ้น ทั้งการสร้างและพัฒนา ระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) การพัฒนาย่านนวัตกรรม (Innovation District) และการนำเอาพลังของมหาวิทยาลัยมาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานนวัตกรรมในพื้นที่ เกิดเป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภูมิภาค ได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ซึ่งถือเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในภูมิภาคต่าง ๆ

อุทยานฯ มีนโยบายในการส่งเสริมนวัตกรรมอย่างไรบ้าง

อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) มีบทบาทในการเป็นสะพานแห่งการสร้างนวัตกรรมผ่าน 3 กระบวนหลัก ได้แก่ การยกระดับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยให้ออกสู่เชิงพาณิชย์ (Inside-out Approach/Tech Commercialization) การทำงานวิจัยพัฒนาตามโจทย์ของภาคธุรกิจ (Outside-in Approach) และการสร้างธุรกิจเทคโนโลยีเริ่มต้นจากองค์ความรู้และงานวิจัย (Tech Startup Approach) ซึ่งทั้ง 3 กระบวนการนี้ได้ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการในการใช้องค์ความรู้ งานวิจัยและเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันได้ เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมในประเทศ

ตัวอย่างนวัตกรรมของผู้ประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงาน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมหลากหลายโครงการ ได้แก่

  • เทคโนโลยีการกำจัดแมลงและไข่แมลงในข้าวสารด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radio Frequency Technology) ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนในระดับโมเลกุล เกิดพลังงานความร้อนไปกำจัดแมลงและไข่แมลงในข้าวสารทดแทนการใช้สารเคมีได้ ซึ่งบริษัท ยนต์ผลดี จำกัด ได้นำไปผลิตในเชิงธุรกิจ และได้รับการผลักดันให้อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย
  • เทคโนโลยีสารสกัดลำไย P80 จากผลการวิจัยพบว่ามีคุณสมบัติช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการนอนหลับ บรรเทาความเครียดและอาการปวดข้อต่อและหลัง ซึ่งบริษัท พีเอ็มกรุ๊ป จำกัด ได้นำไปผลิตในเชิงธุรกิจ โดยรับซื้อลำไยจากเกษตรกรในราคาสูงกว่าท้องตลาด ช่วยลดปัญหาผลผลิตล้นตลาดและเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร
  • เทคโนโลยี Cold Atmospheric Pressure Plasma ได้รับการพัฒนาเป็นเครื่องพลาสมาอากาศบำบัดแผลติดเชื้อ เครื่องมีคุณสมบัติพิเศษที่โดดเด่น ได้แก่ การฆ่าเชื้อแบคทีเรีย กระตุ้นการสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อใหม่ ไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ผิวหนังปกติ ไม่มีสารเคมีตกค้าง ใช้ค่าไฟฟ้าซึ่งมีอัตราสิ้นเปลืองไม่เกิน 5 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการใช้งานเครื่องต่ำมาก โดยบริษัท อินโนพลาสซีเอ็ม จำกัด ได้นำไปผลิตในเชิงธุรกิจและได้รับการสนับสนุนให้สามารถผลิตเครื่องโดยมี CE mark โดยต้องทำการทดสอบ Clinical trial เพื่อขอมาตรฐาน อย. เครื่องมือแพทย์ต่อไป
  • ชุดตรวจเชื้อก่อโรคเต้านมอักเสบพร้อมการทดสอบความไวยา เป็นอุปกรณ์ที่ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ให้สามารถตรวจสอบเชื้อที่เป็นต้นเหตุของโรคเต้านมอักเสบได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการ ช่วยให้ทราบผลได้รวดเร็ว และช่วยในการตัดสินใจของเกษตรกรในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ป้องกันการแพร่ระบาดในฟาร์มและลดความสูญเสียตามมา เช่น ปริมาณและคุณภาพน้ำนมที่ลดลง ผลที่ได้จึงเป็นชุดตรวจแรกที่ผ่านการวิจัยจนมีผลการตรวจเชื้อที่ถูกต้องสูงถึง 90% ปัจจุบันทีมวิจัยได้รับการผลักดันให้เป็นสตาร์อัพในการต่อยอดผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์
  • นวัตกรรมรากฟันเทียมใหม่ ได้รับการพัฒนารูปร่าง รูปทรง วัสดุของรากฟันเทียม เมื่อนำไปใช้งานจะเปิดแผลมีขนาดเล็กเพื่อใส่ชิ้นส่วนอุปกรณ์ยึดกับกระดูกกราม ทำให้ผู้ป่วยเจ็บน้อยลง เนื้อเยื่อเสียหายน้อย การฟื้นตัวของแผลเร็วขึ้น อุปกรณ์ยึดติดกับกระดูกได้ดี สามารถใส่รากฟันเทียมแล้วเสร็จได้ในครั้งเดียว และเมื่อสึกหรอจากการใส่เข้าออกฟันปลอมแล้วสามารถเปลี่ยนส่วนหัวได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรื้อทิ้ง ผ่านการรับรองความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ตามมาตรฐานสหภาพยุโรป CE Mark for Medical Devices (MDD 93/42/EEC) มาตรฐานการผลิตเครื่องมือแพทย์ ISO 13485 มาตรฐานวิธีการที่ดีในการผลิต (Good Manufacturing Practice) ปัจจุบันได้รับการสนับสนุนในการหาผู้ร่วมลงทุนในการผลิตและต่อยอดทางธุรกิจ

โครงการความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ NIA

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีความร่วมมือด้านนวัตกรรมร่วมกับ NIA หลายโครงการ ทั้งการส่งเสริมและพัฒนา Startup โดยส่งทีมหรือผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ เช่น การพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมของผู้ประกอบการใหม่ภาคเหนือ (Northern Innovation Startup Thailand; NIST) โครงการ Startup Thailand League โครงการส่งเสริม Startup สาย Health Tech โดยจัดตั้งย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก ( Suandok Medical Innovation District ; SMID) ซึ่งจัดขึ้นโดย คณะสายแพทย์ มช. และ NIA มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางแห่งนวัตกรรมการแพทย์ของภูมิภาคอย่างยั่งยืน โครงการนิลมังกร แคมเปญที่ส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมระดับภูมิภาค และการส่งเสริมผู้ประกอบการร่วมพัฒนานวัตกรรมภายใต้การสนับสนุนโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการ Northern Thailand Food Valley (NTFV) เพื่อการขับเคลื่อนการจัดตั้งพื้นที่เศรษฐกิจนวัตกรรมอาหารภาคเหนือ โครงการ Open Innovation และโครงการการส่งเสริมการใช้พื้นที่ Food Incubation Kitchen Playground สำหรับผู้ประกอบการ Startup/SMEs ในพื้นที่เศรษฐกิจนวัตกรรมอาหารภาคเหนือ

คิดว่า “เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย” มีบทบาทพัฒนานวัตกรรมของประเทศอย่างไรบ้าง

เป็นการผสานพลัง (Synergize) และความเข้มแข็งจากองค์กรต่าง ๆ ในเครือข่าย ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ทั้งนี้ ในส่วนของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะเป็นสะพานแห่งการสร้างนวัตกรรมโดยบูรณาการทรัพยากรจากมหาวิทยาลัยและพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ให้เกิดการพัฒนาในส่วนภูมิภาค (Regional Development) เพื่อให้ผู้ประกอบการ/ชุมชน/นักศึกษา/อาจารย์และนักวิจัย ได้ใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพเป็น Startup ออกสู่เชิงพาณิชย์เพื่อสร้างผลกระทบที่ดีให้สังคม ช่วยผู้ประกอบการและชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ภาคเหนือ ให้สามารถแข่งขันได้ เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป

อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นับเป็นหนึ่งในเครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทยที่มีศักยภาพและเป็นต้นแบบที่ดีของสถาบันการศึกษาในการให้บริการทางวิชาการเพื่อสร้างคน สร้างนวัตกรรม ควบคู่กับการร่วมพัฒนาธุรกิจ พัฒนาชุมชนและสังคมในส่วนภูมิภาคให้ดีขึ้นอย่างเต็มภาคภูมิ