Blog

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทยที่จะร่วมพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ

Geo-Informatics and Space Technology Development Agency: Part of the Innovation Thailand Alliance’s Collaboration to Develop a Space Economy

สำหรับคนทั่วๆ ไปเทคโนโลยีอวกาศดูจะเป็นเรื่องห่างไกลจากคนไทย นั่นเพราะคนไทยส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ได้รับรู้ถึงนวัตกรรมของคนไทยที่ไม่ด้อยไปกว่านานาประเทศ วันนี้ Innovation Thailand จะพาไปพูดคุยกับ ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคโนโลยีกิจการอวกาศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ว่าคนไทยมีศักยภาพด้านนวัตกรรมที่น่าทึ่งแค่ไหน ไปติดตามกัน...

สำนักงานฯ มียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับนวัตกรรมอย่างไรบ้าง

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA มีวิสัยทัศน์คือ “เป็นองค์กรในการนำคุณค่าจากอวกาศและภูมิสารสนเทศสู่สังคม” โดยการจะนำคุณค่ามาสู่สังคมได้นั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล โดย GISTDA มียุทธศาสตร์การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศของประเทศในองค์รวม โดยพัฒนาผ่าน “THEOS-2 System” เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม ทำให้เกิดเป็น “Ecosystem นวัตกรรม และการบริการที่เอื้อต่อการสร้าง New Space Economy ของประเทศ” และ “มีการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้เกิดการลงทุนด้านอุตสาหกรรมอวกาศ” ที่มุ่งเน้นนวัตกรรมด้านภูมิสารสนเทศเป็นหลัก

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ

อยากให้ยกตัวอย่างนวัตกรรมของสำนักงานฯ ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม

ในปัจจุบันเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบโดยตรงถึงประชาชนทุกคน ดังนั้น โครงการ THEOS-2 จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สนับสนุนคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ และพัฒนาขีดความสามารถในการสร้างดาวเทียมและอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศ รวมถึงการพัฒนาดาวเทียมเล็กที่วิศวกรดาวเทียมไทยร่วมพัฒนา และถือเป็นนวัตกรรมอวกาศสัญชาติไทย เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถและพื้นฐานของอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศให้เป็นที่ประจักษ์ ซึ่งผลงานนวัตกรรมของ GISTDA ได้แก่

1. โครงสร้างพื้นฐานดาวเทียมนำทาง (GNSS) บนหลักการ Network of CORS Networks ที่จะรวบรวมข้อมูลเชิงตำแหน่งความละเอียดสูงแก่ภาคอุตสาหกรรม พร้อมเสริมสร้างประสิทธิภาพการพัฒนานวัตกรรมในประเทศไทย ซึ่งอาศัยข้อมูลแบบทันเวลา เพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง (High-Technology Industry) ที่ช่วยส่งเสริมหน่วยงานของรัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน โดยเฉพาะวิสาหกิจเริ่มต้น (Startups) และ SME ด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ให้สามารถต่อยอดด้านอื่นๆ ได้ อาทิ ด้านการเกษตร ด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น
2. ชุดขับเคลื่อนขับพวงมาลัยอัตโนมัติ (Steering gear) เป็นนวัตกรรมที่สำคัญในการพัฒนาด้านการเกษตร นำไปสู่การเป็น Smart Farm ซึ่งออกแบบให้ติดตั้งกับระบบบังคับเลี้ยวของรถแทรกเตอร์ขนาดเล็กได้ง่าย เพื่อควบคุมทิศทางการเคลื่อนที่ของรถแทรกเตอร์ให้เคลื่อนที่ได้ตามต้องการ ซึ่งลดต้นทุนการพัฒนาและลดระยะเวลาในการทำการเกษตร ช่วยเพิ่มผลผลิตได้
3. พาหนะเคลื่อนที่ขับเคลื่อนโดยมอเตอร์ไฟฟ้าไร้คนขับ Electric Vehicle (EV Car) เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาต่อยอดโดยใช้เทคโนโลยีเชิงตำแหน่งความละเอียดสูง เพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนบนท้องถนน ลดการเกิดอุบัติเหตุ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้
4. ระบบบริหารจัดการ GNSS Application เพื่อติดตามการขนส่งและติดตามผลผลิต โดยมีแอพพลิเคชั่นชื่อว่า "G-LOGISTS" สำหรับการจัดการการขนส่งอ้อยร่วมกับโรงงานน้ำตาล และจัดการการขนส่งมันสำปะหลัง ผ่านการบริหารจัดการแบบ IoT บนรถบรรทุกขนส่งผลผลิตทางการเกษตร จะสามารถส่งผลให้ผู้ควบคุมระบบขนส่งได้รับข้อมูลและสถานะตั้งแต่ต้นทาง – ปลายทาง รับรู้แบบ Real Time เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการตารางรถ จะช่วยลดจำนวนพาหานะที่เสียเวลา โอกาสการเกิดอุบัติเหตุ และต้นทุนน้ำมัน เชื้อเพลิง

Geo-Informatics and Space Technology Development Agency: Part of the Innovation Thailand Alliance’s Collaboration to Develop a Space Economy

โครงการ Thai Space Consortium ที่ทำร่วมกับ NIA เป็นอย่างไร

GISTDA และ NIA มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศหรือ Space Economy โดยปัจจุบันมีโครงการ Space Economy Lifting Off เพื่อพัฒนาศักยภาพและผลิตภัณฑ์ของสตาร์ทอัพ นักวิจัย และผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีอวกาศให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถต่อยอดทางธุรกิจและเติบโตในอุตสาหกรรมอวกาศได้ ซึ่ง GISTDA ก็ได้เป็น mentor ให้แก่ทีม Startup ผู้เข้าแข่งขัน

คิดว่า “แพลตฟอร์มนวัตกรรมประเทศไทย” จะช่วยสร้างจุดยืนทางนวัตกรรมให้แก่ประเทศไทยอย่างไร

แพลตฟอร์มนวัตกรรมประเทศไทย จะมีส่วนสำคัญให้การแก้ปัญหาของประเทศได้อย่างครอบคลุม การแก้ปัญหาให้ประชาชนรับรู้และเข้าถึงนวัตกรรม เกิดการพัฒนาคน สร้างอาชีพ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ส่งผลกระทบในระดับประเทศ เกิดเป็น Innovation Ecosystem ซึ่งเครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย จะเป็นความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา การรวมทุกองค์ความรู้จากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม จะเกิดผลกระทบและเกิดประโยชน์อย่างมหาศาลในระดับประเทศ GISTDA มีความคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศชั้นนำในด้านนวัตกรรม มีศักยภาพในการแข่งขันระดับสากล

รู้สึกอย่างไรที่เข้าร่วม เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย (Innovation Thailand Alliance)

ทาง GISTDA ต้องขอขอบคุณที่ให้เกียรติหน่วยงานของเราในการเข้าร่วมเครือข่าย ทางเรามีความยินดีอย่างยิ่งที่มีโครงการที่ดีแบบนี้ ในการรวมเครือข่ายนวัตกรรมของประเทศไทย ซึ่งสามารถต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ได้อีกมากมาย ซึ่งทาง GISTDA ก็มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ การพัฒนาและผลิตชิ้นส่วนดาวเทียม ซึ่งหวังอย่างยิ่งว่า GISTDA จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาพลิกฟื้นประเทศ...ด้วยนวัตกรรมไทย ร่วมกับหน่วยงานของทุกท่าน ขอบคุณครับ

นั่นคือตัวอย่างผลงานและบทบาทของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทยที่จะมาร่วมพลิกประเทศให้เป็นประเทศแห่งนวัตกรรม ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล