Blog

สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย-สสอท พร้อมสร้างหลักสูตร สร้างกระบวนการพัฒนานวัตกรรุ่นใหม่

The Association of Private Higher Education Institutions of Thailand (APHEIT) Is Ready to Create New Courses and Processes for Developing A New Generation of Innovators

สถาบันการศึกษาเป็นภาคส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางของประเทศ ผ่านหลักสูตรการศึกษาและการสร้างนวัตกรใหม่ๆ วันนี้เราจะพาไปพูดคุยกับ ดร.นันทพร ดำรงพงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม และผู้ช่วยนายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย หนึ่งในเครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทยว่ามหาวิทยาลัยจะมีบทบาทส่งเสริมในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่นวัตกรรมได้อย่างไร มาติดตามกัน...

ยุทธศาสตร์หรือนโยบายการดำเนินงานที่เกี่ยวกับนวัตกรรมของสสอท.

ภาพรวมของมหาวิทยาลัยในสังกัดสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย หรือ สสอท. ได้ปรับปรุงหลักสูตรเพื่อสร้างนวัตกรและมีนโยบายที่จะเปิดโอกาสให้เด็กได้ทดลอง เรียนรู้ สร้างประสบการณ์ตรงในการเป็นนวัตกรตั้งแต่ปี 1 จนถึงปีการศึกษาสุดท้ายด้วยกิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง เช่นการเข้าร่วมโครงการของ NIA โครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการของ อว เป็นต้น

สสอท

สถาบันการศึกษาส่งเสริมให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมหรือสร้างนวัตกรรุ่นใหม่

การจะเกิดนวัตกรรมต้องเริ่มจากการสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดการสงสัยอยากรู้ การทดลองแก้ไข เข้าใจปัญหา กระบวนการต่างๆที่เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถทำให้เกิดได้ทั้งจากการกำหนดหลักสูตรที่เรียน หรือการทำ workshop ต่างๆ หลังจากนั้นเปิดเวทีให้นักศึกษาได้เล่าเรื่องราว และขอความช่วยเหลือ เพื่อย้อนกลับเป็นกระบวนการพัฒนา หรือปรับปรุงการศึกษาให้ดีและเหมาะสมยิ่งขึ้น การมีผู้ประกอบการมาเป็นวิทยากร หรือพี่เลี้ยงยิ่งจะทำให้นักศึกษาได้มีโอกาสสัมผัสหรือเรียนรู้ความสำเร็จทางลัดได้เร็วและมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตรถยนต์ PORSCHE จะผลิตรถต้นแบบแล้วเอาไปแข่งขันเพื่อหา Benchmark คุณภาพด้านสมรรถนะและปั้นต้นแบบด้วย Clay เพื่อเป็น Benchmark ด้าน Premium รูปลักษณ์หลังจากนั้นเมื่อคุณภาพดีเยี่ยมก็จะผลิตออกจำหน่าย เป็นต้น

สถานการณ์นวัตกรรมของไทย

สำหรับประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญกับ Startup เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันประเทศไทยมี Startup จำนวนไม่เกิน 3,000 ราย ที่ยังมีบทบาทอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ถ้ามองถึงสาเหตุทำไมจำนวนนักนวัตกรถึงได้มีไม่มากนัก อาจต้องย้อนกลับไปดูสภาพแวดล้อมทั้งหมด (Ecosystem) ทั้ง 3 ส่วน คือ Startup Company / Investor และ Supporting Organization ว่าเอื้อต่อการเกิดนวัตกรรมในประเทศหรือไม่ ซึ่งจะพบว่าประเด็นเงินทุนยังไม่สำคัญเท่ากับในส่วนของ Supporting Organization เช่น กฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการเติบโตของนวัตกรรม รวมถึง หน่วยงานการศึกษาต้องพร้อมที่จะทำหน้าที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านการทำข้อตกลงการวิจัยร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่และให้ผลงานวิจัยเป็นลิขสิทธิ์ทางการค้า ทำให้นักวิจัยได้มีโอกาสสัมผัสการทำงานในเชิงพาณิชย์และทำรายได้จากงานวิจัยจริง ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยควรสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการคิดไอเดียใหม่ๆ มีความยืดหยุ่นในการสร้างหลักสูตรและวิชาการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นในอนาคต จะช่วยสร้างผู้ประกอบการที่มีแนวคิดขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมตั้งแต่เริ่มต้น ตัวอย่าง เช่น ในสหรัฐอเมริกามีองค์กร NSF Innovation Corps (I-Corps) ทำหน้าที่เป็นเครือข่ายให้ทุนสนับสนุนนักวิจัยในห้องทดลองให้สามารถขยายการทำงานในเชิงพาณิชย์ และสนับสนุนการเพิ่มทักษะการเป็นผู้ประกอบการด้วยการให้คำแนะนำการนำผลงานออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์และการบริหารองค์กร I-Corps มีหน้าที่ช่วยสร้างนักวิจัยให้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ไม่ใช่เน้นเพียงการสร้างผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของนักการตลาด

The Association of Private Higher Education Institutions of Thailand (APHEIT) Is Ready to Create New Courses and Processes for Developing A New Generation of Innovators

“เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย”จะผลักดันประเทศสู่นวัตกรรม

นับเป็นความคิดและแนวทางที่ดีมากที่สามารถสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานชั้นนำของประเทศไทยจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม รวมถึง 73 แห่งได้ ซึ่งแพลตฟอร์มนวัตกรรมประเทศไทย เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย น่าจะเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะการทำงานร่วมกันทั้งฝั่ง Demand และ Supply Side โดยหลักการที่ยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ซึ่งก็อยากให้เกิดเป็นรูปธรรม และมีการดำเนินการต่อเนื่อง มีตัวชี้วัดอย่างชัดเจน โดยมหาวิทยาลัยก็จะมีบทบาทช่วยในการสร้างหลักสูตรและวิชาการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นในอนาคต สร้างผู้ประกอบการที่มีแนวคิดนวัตกรรม โดยร่วมกับบริษัทในแต่ละสาขาเพื่อการเติบโตไปพร้อมๆกัน ไม่ใช่เน้นด้านใดด้านเดียว ในขณะเดียวกันควรสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการคิดหรือเกิดไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอ

นับเป็นหนึ่งในภาคสถาบันการศึกษาที่เห็นความสำคัญของนวัตกรรม และพร้อมจะร่วมผลักดันประเทศไทยให้เป็นประเทศนวัตกรรม ด้วยการสร้างหลักสูตรการศึกษา สร้างนวัตกรรุ่นใหม่ และยังเป็นพื้นที่สำหรับการสร้างงานวิจัยที่ตอบโจทย์ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายเดียวกันนั่นคือ “ประเทศแห่งนวัตกรรม”