Blog

สถาบันอาหาร หนึ่งในเครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย ที่ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมอาหารของไทยสู่เวทีโลก

The National Food Institute – A Member of the Innovation Thailand Alliance Promoting Thai Food Innovations Globally

ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก การเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการด้วยการนำนวัตกรรมมาต่อยอดให้สอดคล้องกับความต้องการของเทรนด์โลก นับเป็นความจำเป็นในการแข่งขันทางธุรกิจในปัจจุบัน วันนี้...Innovation Thailand จะพาไปพูดคุยกับ คุณอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ในฐานะที่สถาบันฯ เป็นหนึ่งในเครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย ว่ามีนโยบายด้านนวัตกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอาหารไทยในเวทีโลกอย่างไรบ้าง...

ความสำคัญของนวัตกรรม และนโยบายด้านนวัตกรรมของสถาบันฯ

ในยุค Next normal การสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทิศทางการพัฒนาของโลกในภาคอุตสาหกรรมเกษตรอาหารแปรรูป ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้แก่ การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลาย ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและการลดความเหลื่อมล้ำ นโยบายการพัฒนาของประเทศไทย จึงมุ่งสู่เศรษฐกิจการพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Economy) ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งต้องนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขัน

นวัตกรรมด้านอาหารของไทยในปัจจุบัน

ในส่วนของสถาบันอาหาร ได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการอาหารในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัย โดยสร้างสรรค์บนพื้นฐานภูมิปัญญาไทยไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์และจำหน่ายได้จริง โดยมีการให้บริการห้องปฏิบัติการอุตสาหกรรมอาหารที่ได้มาตรฐาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัยในการทดลองผลิตสินค้าจริง และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำนวัตกรรมไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ โดยการสนับสนุนสถานที่ผลิต เทคโนโลยี บุคลากร ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร การพัฒนาบุคลากรด้านนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดถึงการพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เช่น มหาวิทยาลัยในภูมิภาค เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงได้ง่าย

นวัตกรรมด้านอาหารของไทยในปัจจุบัน

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการอาหารของไทยที่มีการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อให้ได้สินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพในด้านการลงทุนด้านเทคโนโลยี เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่ม Functional Food ที่มุ่งเน้นประโยชน์ในด้านสุขภาพ อาหารเพื่อความผ่อนคลาย (Emotion Healthy Food) ผลิตภัณฑ์ โปรตีนจากพืช (Plant based protein) อาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพ (Healthier choice) กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเฉพาะกลุ่ม เช่น วีแกน (Vegan) คีโต (keto) ฯลฯ แต่ในระดับผู้ประกอบการรายย่อย หรือวิสาหกิจชุมชน ยังขาดการเชื่อมโยงหรือเข้าถึงแหล่งเทคโนโลยี ขาดองค์ความรู้ และขาดแหล่งเงินทุนเพื่อต่อยอดแนวคิดการพัฒนานวัตกรรม ทำให้ยังไม่สามารถก้าวสู่สากลได้มากนัก หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจึงควรให้การสนับสนุนและส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีอัตลักษณ์ควบคู่ไปกับการควบคุมคุณภาพมาตรฐานสากล

The National Food Institute – A Member of the Innovation Thailand Alliance Promoting Thai Food Innovations Globally

“แพลตฟอร์มนวัตกรรมประเทศไทย” มีบทบาทช่วยผลักดันนวัตกรรมประเทศไทยได้

แพลตฟอร์มนวัตกรรมประเทศไทย จะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเร่งให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยสามารถเติบโตในตลาดสากล และเกิดความยั่งยืนจากการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในภาคการผลิตให้สามารถสร้างคุณค่าเพิ่ม (Value creation) ให้กับผลผลิตทางการเกษตร ลดต้นทุน ลดของเสีย และสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร และส่งผลต่อการจ้างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย จะสามารถยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เนื่องจากเป็นการเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาคส่วนราชการและเอกชนทำให้ผู้ประกอบการเดิมและนักลงทุนรายใหม่สามารถเข้าถึงและพัฒนานวัตกรรมได้รวดเร็วขึ้น

สถาบันอาหาร นับเป็นองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการอาหารทุกระดับ ในการนำนวัตกรรมไปใช้ในการพัฒนา ปรับปรุง ต่อยอด ให้มีมูลค่าสูง (High Value) เพื่อยกระดับสินค้าอาหารของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ