Blog

พลิกสิ่งแวดล้อม ให้ดีขึ้น ด้วยนวัตกรรม

ปัญหาโลกร้อน ได้กลายเป็นปัญหาของมนุษยชาติที่ได้รับผลกระทบกันทั่วโลก ซึ่งมีสาเหตุจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ตั้งแต่ การเพิ่มขึ้นของประชากรโลกที่ทำให้เกิดการขยายตัวของสังคมเมือง การทำลายบุกรุกพื้นที่ธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่มีการนำทรัพยากรแบบสิ้นเปลืองมาใช้เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งในกระบวนการผลิตสินค้ายังทำให้เกิดของเสียที่ปล่อยออกสู่ธรรมชาติ ทั้งควันพิษ ฝุ่นละออง น้ำเสีย สารเคมีต่าง ๆ ที่ทำลายดิน น้ำ และอากาศ จนทำให้โลกเสียสมดุล

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หรือภาวะโลกร้อนกำลังก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้คนและระบบนิเวศ ความจริงที่เราได้เห็นปรากฎอยู่ในข่าวบ่อยๆ ก็คือ ปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง คลื่นความร้อนที่ทำให้ถึงแก่ความตายได้ น้ำทะเลที่อุ่นขึ้นจนทำให้สัตว์ทะเลตายจำนวนมาก น้ำแข็งขั้วโลกสลายทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ปะการังที่กำลังตาย ชั้นดินเยือกแข็ง (Permafrost) ที่อุ่นขึ้น ระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงทำให้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือการเกิดฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โลกในวันนี้จึงอยู่ในช่วงวิกฤตของสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ เรื่องสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องที่เราต้องหันมาใส่ใจกันอย่างจริงจังเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์นั่นเอง

Environment
Environment

พัฒนาสู่ความยั่งยืน ฟื้นโลกและสิ่งแวดล้อมด้วย “นวัตกรรม”

จากประเด็นสิ่งแวดล้อมที่กลายเป็นปัญหาระดับโลก สหประชาชาติจึงได้กำหนดแผนแม่บทของโลกให้ประเทศสมาชิกเข้าร่วมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs (Sustainable Development Goals) ให้สำเร็จในปี 2030 มีสมาชิกเข้าร่วม 165 ประเทศ โดยมี 17 เป้าหมายในการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ในแต่ละปีจะมีการจัดอันดับ SDG Index เป็นเครื่องชี้วัดให้เห็นสถานการณ์ ความก้าวหน้า และประเด็นท้าทายทั้งในภาพรวมระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ

สำหรับประเทศไทย นอกจากได้นำเป้าหมาย SDGs มาผนวกเป็นแนวทางการพัฒนาของประเทศทั้งในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว ในภาคเอกชนและภาคสังคมของไทยยังมีความตื่นตัวในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2021 ดัชนี SDG ของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 43 ของโลกจาก 165 ประเทศ โดยมีคะแนนดัชนี 74.2 และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในเอเชีย พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากญี่ปุ่น (อันดับ 18) และเกาหลีใต้ (อันดับ 28) เท่านั้น และยังคงเป็นประเทศที่มีคะแนนดัชนี SDG สูงที่สุดในอาเซียนติดต่อกันเป็นปีที่ 3 (2562 – ปัจจุบัน)

นอกจากนี้ยังมีโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ส่งเสริมทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งประกอบด้วย Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน การวางแผนใช้ทรัพยากรในระบบการผลิตให้สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิม ลดการเกิดของเสีย และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และ Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลทั้ง 3 ด้านคือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่ความยั่งยืน ประเทศไทยในวันนี้จึงมีนวัตกรรม เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมพลังงานสะอาด นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมกำจัดขยะและซากสัตว์ นวัตกรรมจากวัสดุและของเหลือใช้จากการเกษตร พลาสติกชีวภาพ พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ ฯลฯ ซึ่งนวัตกรรมไทยเหล่านี้จะช่วยจุดประกายให้เกิดการต่อยอดพัฒนาเพื่อพลิกสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ช่วยให้โลกเราดีขึ้นอย่างแน่นอน