Blog

พลิกธุรกิจให้รอด ด้วยนวัตกรรม

นวัตกรรม...ทางออกที่จะพลิกธุรกิจให้ไปรอด

จากการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดย International Institute for Management Development (IMD) ประจำปี 2564 พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 28 จาก 63 ประเทศ โดยมีผลการจัดอันดับดีขึ้น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะที่ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ มีอันดับลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด 19 ต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีความท้าทายในการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยประเด็นสำคัญจากผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน พบว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันอยู่อันดับต้นๆ ของโลกในช่วงเวลาที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทายจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 มาจากการลงทุนใน “นวัตกรรม” (Innovation) ซึ่งจะช่วยให้ประเทศมีสมรรถนะทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ไม่ต้องแข่งขันกันด้วยราคาต่อหน่วยที่ถูกกว่า และธุรกิจสามารถเพิ่มมูลค่าผ่านการนำเสนอคุณค่าใหม่ของนวัตกรรมให้แก่ลูกค้าได้

ดัชนีนวัตกรรม

โมเดลธุรกิจแบบเดิมๆ อาจจะไม่ใช่คำตอบสำหรับที่จะนำไปสู่ความสำเร็จอีกต่อไป ผู้ประกอบการจึงต้องเปลี่ยนมุมมอง สร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เรียนรู้ต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่มาสร้างกระบวนการใหม่ๆ โดยนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาเพื่อเติมเต็มความต้องการลงตัวกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ซึ่งหากพิจารณาถึงความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศไทยจากผลการจัดอันดับ “ดัชนีนวัตกรรมโลก” (Global Innovation Index: GII) ประจำปี 2564 โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) ร่วมกับมหาวิทยาลัยคอร์เนล และ The Business School for the World (INSEAD) พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 43 จาก 132 ประเทศทั่วโลก (เพิ่มขึ้น 1 อันดับจากปี 2563) นั่นแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยก็มีความพร้อมและมีศักยภาพด้านนวัตกรรมในอันดับที่ดี โดยปัจจัยชี้วัดความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศไทยที่โดดเด่นมากที่สุด เป็นกลุ่มปัจจัยด้านระบบตลาด และกลุ่มปัจจัยด้านระบบธุรกิจที่แม้จะมีการปรับตัวลดลงมาเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับที่ดี โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนาซึ่งลงทุนโดยองค์กรธุรกิจต่างๆ (อันดับ 1) ซึ่งสะท้อนให้เห็นการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศไทยมุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจด้วยการพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น โดยมีการตั้งเป้าให้ประเทศไทยอยู่ใน 30 อันดับแรกของดัชนีนวัตกรรมโลก เพื่อสร้างจุดยืนให้เป็นประเทศฐานนวัตกรรม ดังนั้น การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้มีนวัตกรรมจึงเป็นแนวทางที่จะนำพาธุรกิจให้อยู่รอดและสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

นวัตกรรม
นวัตกรรม

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับการจัดอันดับประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรมจากดัชนีนวัตกรรม บลูมเบิร์ก หรือ Bloomberg Innovation Index ประจำปี 2564 ก้าวกระโดดขึ้นจากอันดับที่ 40 มาเป็นอันดับที่ 36 จาก 60 ประเทศทั่วโลก โดยมิติสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ ขยับขึ้นสูงกว่าเดิมถึง 8 อันดับ และติดหนึ่งในสามของประเทศชั้นนำในภูมิภาคอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย พร้อมวาง 3 กลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่ “ประเทศฐานนวัตกรรม” ได้แก่ เชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่นวัตกรรม ยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 และสร้างศักยภาพแห่งอนาคต