Blog

LION ผู้ผลิตสินค้าของใช้ส่วนตัวและของใช้ในครัวเรือน นวัตกรรมไทยที่พลิกชีวิตและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น

หนึ่งในเครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าองค์กรนวัตกรรมก็คือ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตสินค้าของใช้ส่วนตัวและผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนมากมาย อาทิ เปา เอสเซ้นท์ ไลปอนเอฟ โคโดโม คิเรอิ คิเรอิ โชกุบุสีโมโนกาตาริ กู๊ดเอจ ฯลฯ วันนี้ Innovation Thailand ได้มีโอกาสไปพูดคุยเชิงลึกกับ คุณชูชีพ อภิรักษ์ ผู้จัดการส่วนวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด หรือ LION ว่าทำไมบริษัทถึงได้ชื่อว่าเป็นองค์กรนวัตกรรมชั้นนำของไทย บริษัทฯมีนโยบายและการดำเนินงานอย่างไร ไปติดตามกัน...

ยุทธศาสตร์ด้านนวัตกรรมของ LION

โจทย์สำคัญของบริษัทในการวิจัยผลิตภัณฑ์คือ “นำความดีสู่สังคม สร้างสุขภาวะที่ดีสู่ผู้บริโภค” โดย มุ่งเน้นเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ ซึ่งโลกในปัจจุบันเกิด Rapid Changes in Competition มีเทคโนโลยีล้ำสมัยแบบก้าวกระโดด ทั้งความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีขีดจำกัด รูปแบบการทำงานเดิมๆ นั้นไม่ตอบโจทย์โลกที่อีกต่อไป สิ่งสำคัญที่จะนำพาให้ธุรกิจอยู่รอด คือ ความเร็วในการขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ (Speedy Drive Innovation Pathway) บริษัทฯ จึงได้สร้างหน่วยงานนวัตกรรมที่มีชื่อว่า “Research and Development Center” นั่นคือ LION HUB : Speedy Drive Innovation Pathway หรือระบบและกระบวนการขับเคลื่อนนวัตกรรมในรูปแบบใหม่ที่รวดเร็วขึ้น เป็น สังคมนิเวศทางปัญญา เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ให้ทันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของตลาด

AIS

นวัตกรรมที่น่าสนใจของบริษัทฯ

บริษัทฯ มุ่งเน้นพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เพราะประเทศไทยมีวัตถุดิบทางธรรมชาติที่หลากหลายและภูมิปัญญาท้องถิ่นมากมาย จึงคิดว่าน่าจะพัฒนาวัตถุดิบและภูมิปัญญาเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์และได้มาตรฐานสากล จึงเริ่มวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบสารสกัดจากสมุนไพรและพืชอัตลักษณ์ท้องถิ่นตั้งแต่ปี 2018 เช่น สารสกัดตรีผลาความเข้มข้นสูง ซึ่งนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากและผิวพรรณ เช่น ยาสีฟันซอลส์ตรีผลา น้ำยาบ้วนปากตรีผลา แชมพูฟอลเลส แอดวานซ์ ฟอร์มูล่า เป็นต้น ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญทองจากงาน SIIF 2018 และได้ขยายผลเข้าร่วมโครงการอัตลักษณ์พืชไทย (Thai Cosmetopoeia) กับทาง วว. และขยายผลต่อในโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG เพื่อนำพาประเทศไปสู่ “Thailand 4.0” จากนั้นก็ได้มีการพัฒนาสารสกัดจากพืชธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ทั้งวัตถุดิบทางการเกษตรเหลือใช้มาสกัดเพิ่มมูลค่า (upcycling) สามารถนำของเสียเหลือทิ้งจากการเกษตรมาเพิ่มมูลค่ามากกว่า 150 เท่า คืนรายได้ให้ชุมชน ส่งเสริมให้เยาวชนได้ทำงานอยู่กับชุมชนและครอบครัวทำให้มีรายได้ที่แน่นอน

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้ศึกษาเทคโนโลยีการกักเก็บสารและวิจัยเชิงโมเลกุลของสาร ทั้งโมเลกุลเชิงเดี่ยวและการทำงานรวมกันของสารหลายๆ ตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดปริมาณการใช้สารให้น้อยลงเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค รวมทั้งได้นำองค์ความรู้ที่วิจัยและพัฒนามาต่อยอดเกิดเป็นธุรกิจใหม่ให้กับบริษัทฯ ก็คือวัตถุดิบ“LIOSOME” การกักเก็บสารสำคัญจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ทางด้านเครื่องสำอาง และการคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับสุขภาพ อาหารเสริมและอาหารเพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ แอสคอร์ (ASCOR)

การเข้าร่วม “เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย” จะช่วยให้นวัตกรรมของประเทศดีขึ้น

เมื่อเกิดเป็นเครือข่าย จะมีการเชื่อมโยงกัน ทำให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมหลากหลายและเร็วขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางที่บริษัทฯ ตั้งใจจะทำอยู่แล้ว เพราะการวิจัยเพียงลำพังกว่าจะได้สิ่งที่ได้ก็ล่าช้าและลงทุนสูง เมื่อเกิดพันธมิตรก็จะมีการนำองค์ความรู้กันมาต่อยอดสร้างนวัตกรรม เช่น ของเสียจากอีกบริษัทอาจกลายเป็นนวัตกรรมให้กับอีกบริษัทก็ได้ ทำให้ได้เพื่อนทางธุรกิจที่ร่วมกันผลักดันบริษัทแม่คือ “ประเทศไทย” ให้เติบโตและก้าวหน้าต่อไป

นั่นคือนโยบายและวิธีคิดของ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ที่ทำให้บริษัทเติบโตและมีสินค้าดีๆ สร้างคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น นับเป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรนวัตกรรมที่หลายๆ บริษัทน่าจะเอาแบบอย่าง